วิธีพูดคุยกับผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมเกี่ยวกับประวัติครอบครัวของพวกเขา

เด็กชายนั่งบนโซฟาและพูดคุยกับปู่ย่าของเขา

อาจเป็นเรื่องยากที่จะมองดูคนที่เราห่วงใยมีอายุมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่ออายุที่เพิ่มขึ้นนำไปสู่การเจ็บป่วยหรือความเสื่อมถอยทางสมอง โรคหนึ่งที่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักเผชิญคือโรคสมองเสื่อม เนื่องจากโรคสมองเสื่อมเป็นโรคที่เสื่อมลงเรื่อยๆ ตามเวลา ภาวะของผู้ป่วยจึงเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ การเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องนี้อาจทำให้เป็นเรื่องยากที่จะรู้ว่าควรพูดอะไรหรือโต้ตอบกับคนที่คุณรักอย่างไร หากคุณกําลังมองหาคําแนะนํา ต่อไปนี้คือเคล็ดลับที่เป็นประโยชน์ต่อวิธีการพูดคุยกับผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม

เทคนิคการสื่อสารที่ใช้พูดคุยกับผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม

ความต้องการของแต่ละคนที่ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมแตกต่างกัน และขึ้นอยู่กับคุณที่จะใช้วิจารณญาณที่ดีที่สุดของคุณและประเมินสิ่งที่จําเป็นสําหรับสถานการณ์เฉพาะของคนที่คุณรัก

โปรดจําไว้ว่าโรคสมองเสื่อมเป็นโรคที่คาดเดาไม่ได้ และช่วงเวลาที่มีอาการสมองเสื่อมอาจเกิดขึ้นโดยไม่มีสิ่งกระตุ้นชัดเจน อย่างไรก็ตาม มีสิ่งที่คุณสามารถทําได้เพื่อหลีกเลี่ยงการกระตุ้นให้เกิดอาการดังกล่าว หลีกเลี่ยงการให้คนที่คุณรักอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคยหรือกดดัน และทําสิ่งที่ทําได้เพื่อบรรเทาความเจ็บปวดหรือความสับสนที่พวกเขาอาจประสบอยู่

ขณะสนทนา ต่อไปนี้คือสิ่งที่ควรทําและไม่ควรทําโดยทั่วไปที่สามารถช่วยได้

สิ่งที่พึงจดจำ

  • วางแผนระยะเวลาในการเยี่ยมที่เหมาะสม พยายามอย่าเร่งรีบหรือเครียด สภาพแวดล้อมที่ผ่อนคลายจะช่วยให้การสนทนาราบรื่นยิ่งขึ้น ไม่เป็นไรหากสิ่งต่างๆ ดําเนินช้ากว่าที่คุณคุ้นเคย 
  • รักษาเจตคติที่เอาใจใส่และเป็นเชิงบวก การจัดการอารมณ์ของคุณเองอาจเป็นเรื่องยากเมื่อคนที่คุณห่วงใยกําลังเผชิญกับโรคที่มีการเสื่อมถอย แต่นี่เป็นช่วงเวลาที่การสนับสนุนของคุณเป็นที่ต้องการมากกว่าเวลาใด  
  • นั่งหรือยืนที่ระดับสายตาหรือต่ำกว่าระดับสายตากับคนที่คุณรัก พยายามอย่ายืนค้ำศีรษะคนที่คุณรัก เพราะนั่นอาจทำให้เกิดความหวาดกลัวได้ แต่ให้อยู่ในระดับสายตาของพวกเขาหรือต่ำกว่านั้นเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เท่าเทียมและผ่อนคลาย สบตากันอย่างต่อเนื่อง  
  • สร้างสภาพแวดล้อมที่ผ่อนคลายสําหรับการสนทนา ขจัดสิ่งรบกวนใดก็ตามที่มี เช่น โทรทัศน์ เพลง หรือการแจ้งเตือนทางโทรศัพท์ สิ่งรบกวนจะทําให้สภาพแวดล้อมสําหรับคุณทั้งคู่แย่ลง และทําให้คนที่คุณรักจดจ่อกับการสนทนาได้ยากเป็นพิเศษ 
หลานไปเยี่ยมคุณยายในศูนย์ดูแลฟื้นฟู

  • อดทนและให้เวลาคนที่คุณรักในการตอบ ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมอาจต้องใช้เวลานานกว่าเล็กน้อยในการตอบกลับ ดังนั้นพยายามอย่าพูดประโยคให้จบแทนพวกเขาหรือขัดจังหวะเมื่อพวกเขากำลังพูด  
  • ฝึกการฟังอย่างตั้งใจ สบตากันอย่างต่อเนื่อง พูดซ้ำสิ่งที่ได้ยินกับคนที่คุณรัก และใช้ภาษากายเพื่อแสดงความสนใจในสิ่งที่คนที่คุณรักกําลังพูด 
  • พูดเป็นประโยคสั้นๆ และชัดเจน การแนะนําแนวคิดมากเกินไปในคราวเดียวอาจทําให้คนที่คุณรักรู้สึกดดันหรือสับสนได้ ลองมุ่งเน้นทีละหัวข้อแทน  

สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง

  • อย่าโต้เถียงหรือขัดแย้งกับสิ่งที่คนที่คุณรักพูด แม้ว่าคุณรู้ว่ามันไม่ถูกต้อง ความทรงจําผิดพลาด ภาพหลอน อาการหลงผิด และแม้แต่การเปลี่ยนแปลงการรับรู้เวลา—กระทำราวกับว่าตนเองมีชีวิตเหมือนกลับไปในช่วงวัยก่อนหน้านี้—ไม่ใช่เรื่องแปลกสําหรับผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม การพยายามท้วงติงพวกเขาอาจนําไปสู่ความทุกข์ใจและความสับสนมากขึ้น ให้เปลี่ยนประเด็นการสนทนาแทน  
  • อย่ากระทำเหมือนผู้อื่นเป็นเด็กหรือดูถูกพวกเขา หมายถึงการปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเหมือนเขาเป็นเด็กเล็กที่ไม่เข้าใจ หรือกระทำตัวเหนือกว่าหรือดูถูกเหยียดหยามเขา คนที่คุณรักอาจเข้าใจมากกว่าที่คุณคิด และการตั้งสมมติฐานที่ไม่ถูกต้องอาจนำไปสู่ความรู้สึกเจ็บปวดใจในที่สุด
  • อย่าพูดแทนคนที่คุณรัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพูดถึงความต้องการทางการแพทย์ เปิดโอกาสให้พวกเขาได้รักษาศักดิ์ศรีในการแสดงออกถึงความรู้สึก คำถาม และความกังวลของตนเอง  
  • อย่าพูดเสียงดัง เว้นแต่คนที่คุณรักมีปัญหาการได้ยิน พูดดังขึ้นไม่ได้แปลว่าชัดเจนขึ้นเสมอไป และการตะโกนไม่ได้ทําให้เขาเข้าใจคุณมากขึ้น—จริงๆ แล้ว การทำเช่นนี้อาจจะส่งผลตรงกันข้าม! แน่นอนว่าถ้าคนที่คุณพูดด้วยมีปัญหาทางการได้ยิน ไม่เป็นไรที่จะพูดดังขึ้นเล็กน้อย  
  • อย่าถามคนที่คุณรักว่าพวกเขาจําบางอย่างได้หรือไม่ การถามหรือยืนกรานให้คนที่คุณรักจดจําเหตุการณ์หนึ่งในอดีตอาจทําให้เกิดความสับสนและความทุกข์ใจ 
คุณปู่นั่งอยู่บนเก้าอี้จ้องมองไปด้านข้าง

  • อย่าขัดจังหวะหรือพูดแทรก การทําเช่นนั้นอาจทําให้คนที่คุณรักเสียสมาธิ และไม่สามารถพูดคุยต่อได้ อย่ากลัวความเงียบ พวกเขาจะชื่นชมในความอดทนของคุณ 
  • อย่าลืมว่าพวกเขาอยู่ในห้องด้วย ในสภาพแวดล้อมแบบกลุ่ม ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมอาจมีปัญหาในการติดตามบทสนทนาที่ดำเนินไปอย่างรวดเร็วรอบตัวพวกเขา พยายามให้คนที่คุณรักมีส่วนร่วมในการสนทนา และกระตุ้นให้เขามีส่วนร่วมพูดคุยกับผู้อื่น  

คำถามกับโรคสมองเสื่อม

คําถามเป็นส่วนสําคัญของการสื่อสาร อย่างไรก็ตาม การถามคําถามมากเกินไปอาจทําให้ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมรู้สึกกดดัน คุณอาจต้องถามคำถามสองสามข้อในการเยี่ยมหลายครั้งแทนที่จะพยายามถามคำถามจำนวนมากในครั้งเดียว

หากคุณต้องถามคําถาม พยายามทําให้เรียบง่าย และหลีกเลี่ยงการถามคําถามที่ต้องย้อนนึกถึงความทรงจำ หลายอย่างจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์และคนที่คุณรัก คําถามกว้างๆ อาจดีกว่าสําหรับบางสถานการณ์ และคําถามเฉพาะจะดีกว่าสําหรับสถานการณ์อื่น หัวใจสําคัญที่ต้องจดจําคือ ทําให้การสนทนามีความเครียดน้อยที่สุดสําหรับคนที่คุณรัก และหลีกเลี่ยงการย้อนนึกถึงความทรงจำหรือดึงความสนใจมาสู่ความเป็นจริงที่ว่าพวกเขาจําบางสิ่งไม่ได้

เมื่อถามคําถามที่เกี่ยวข้องกับปัจจุบัน พยายามหลีกเลี่ยงคําถามปลายเปิด แต่ถามคําถามที่ตอบได้ว่า “ใช่” หรือ “ไม่ใช่” แทน ตัวอย่างเช่น แทนที่จะถามว่า “คุณต้องการทานอาหารกลางวันเมื่อไหร่?”—ตัวอย่างเช่น—ลองพูดว่า ”คุณต้องการทานอาหารกลางวันตอนนี้ไหม?”

อีกกลยุทธ์หนึ่งคือการให้ทางเลือกอย่างเฉพาะเจาะจง โรคสมองเสื่อมบางประเภททำให้ผู้ป่วยนึกถึงคำศัพท์เกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ได้ยาก ดังนั้น การให้ตัวเลือกที่เฉพาะเจาะจงจะช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องหงุดหงิดเพราะไม่สามารถค้นหาคำศัพท์ที่ต้องการได้ ตัวอย่างเช่น ใช้คําถามว่า “คุณต้องการสลัดหรือแซนด์วิชเป็นอาหารกลางวัน?” หรือ “คุณต้องการเปิดหรือปิดหน้าต่าง?”

วิธีถามผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมเกี่ยวกับประวัติครอบครัว

หากคุณมีคําถามเกี่ยวกับประวัติครอบครัวสําหรับคนที่คุณรัก ให้หลีกเลี่ยงการสัมภาษณ์หรือการซักถาม โปรดจำไว้ว่า การถามคำถามตรงๆ อาจทำให้ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมทุกข์ใจได้ เพราะผู้ป่วยบางคนตระหนักดีว่าตนเองจำไม่ได้ และจะรู้สึกไม่สบายใจ อย่าเครียดกับรายละเอียด และอย่าเข้าสู่การสนทนาโดยคาดหวังว่าการสนทนาจะได้เรื่องราวที่เรียงตามลำดับเวลา ข้อเท็จจริงโดยละเอียดเกี่ยวกับชีวิตคนที่คุณรักสามารถหาได้จากแหล่งอื่น—สมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ บันทึกอย่างเป็นทางการ บันทึกส่วนตัว หรือแม้แต่แหล่งข้อมูลเช่น ข่าวที่ตัดมาจากหนังสือพิมพ์ ให้จดจ่อกับอารมณ์ของคนที่คุณรักและความทรงจําที่พวกเขาหวงแหนมากกว่า

พยายามหลีกเลี่ยงการถามพวกเขาโดยตรงเกี่ยวกับความทรงจํา แบ่งปันความทรงจําของคุณเพื่อเริ่มการสนทนา และเชิญชวนคนที่คุณรักให้แบ่งปันถ้าพวกเขาสบายใจที่จะทำ ตัวอย่างเช่น แทนที่จะถามว่า “คุณจําพายุหิมะที่เกิดขึ้นในช่วงคริสต์มาสปี 2014 ได้ไหม?” ท่านอาจพูดว่า “ฉันจําคริสต์มาสที่มีหิมะตกหนักและเราเล่นบอร์ดเกมทั้งคืนได้—นั่นเป็นเวลาที่ดีมาก!”

ถ้าคุณถามคําถาม ให้ถามกว้างๆ แทนที่จะถามเกี่ยวกับเหตุการณ์หรือสถานการณ์เฉพาะเจาะจง ดีกว่าที่จะถามว่า “คุณมีความทรงจําที่คุณชื่นชอบในวัยเด็กหรือไม่?” แทนที่จะถามว่า “คุณแม่ของคุณชื่ออะไร?”

หญิงชรากับหลานสาววัยรุ่นหัวเราะด้วยกัน

คุณอาจลองเรียนรู้หัวข้อดังต่อไปนี้:

  • ความทรงจําที่ชื่นชอบเกี่ยวกับสมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ เช่น บิดามารดา พี่น้อง หรือบุตร 
  • งานอดิเรกและความสนใจ  
  • หนังสือ ภาพยนตร์ หรือรายการโทรทัศน์ที่ชื่นชอบ  
  • ความทรงจําที่ชื่นชอบในวัยเด็ก  
  • ความท้าทายและอุปสรรคในชีวิตของพวกเขา 
  • ประเพณีวันหยุด ครอบครัว หรือศาสนา  
  • ประวัติการทํางานหรืออาชีพ  
  • การศึกษา 
  • ประวัติทางทหาร 
  • ความสําเร็จที่น่าภาคภูมิใจที่สุด  
  • บทเรียนสําคัญที่สุดที่พวกเขาได้เรียนรู้ในชีวิต  

เอาใจใส่ว่าคนที่คุณรักรู้สึกอย่างไรขณะที่คุณทั้งสองกำลังรำลึกถึงเรื่องเหล่านี้ ให้เวลาพวกเขามากเท่าที่พวกเขาต้องการหรือจําเป็นที่จะพูดคุย อย่างไรก็ตาม หากคุณเห็นว่าพวกเขาเริ่มเหนื่อยหรือกระวนกระวายใจ อย่าผลักดันพวกเขา เปลี่ยนหัวข้อหรือสิ้นสุดการเยี่ยมเพื่อพวกเขาจะได้พักผ่อน
อาจดูน่ากลัว แต่งานนี้คุ้มค่า การบันทึกประวัติครอบครัวของคนที่คุณรักจะเป็นประโยชน์ต่อคุณทั้งสองคน จริงๆ แล้ว การศึกษาวิจัยในปี 2018 แสดงให้เห็นว่าหนังสือความทรงจำหรือหนังสือเรื่องราวชีวิตมีประโยชน์ในหลายทางสำหรับผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม รวมถึง การปรับปรุงอารมณ์ คุณภาพชีวิต การสื่อสาร และความจำเกี่ยวกับชีวประวัติ

วิธีช่วยผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมบันทึกความทรงจําของพวกเขา

ด้วยการเตรียมตัวเพียงเล็กน้อย คุณจะมั่นใจได้ว่าการสนทนาเรื่องประวัติครอบครัวของคุณกับคนที่คุณรักจะเกิดประสิทธิผล ยกระดับจิตใจ และที่สําคัญที่สุดคือสามารถเก็บรักษาไว้ เคล็ดลับบางประการต่อไปนี้จะช่วยคุณเริ่มต้น:

ภาพระยะใกล้ของมือหญิงชราที่วางอยู่บนสมุดบันทึก

  • ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อบันทึกสิ่งที่พวกเขาพูด เช่น อุปกรณ์การบอกตามคำบอก โทรศัพท์ หรือเครื่องบันทึกวิดีโอ บันทึกนี้จะเก็บรักษาความทรงจําไว้สําหรับคุณทั้งคู่ พิจารณาอัปโหลดสิ่งที่คุณบันทึกไปยัง ความทรงจํา FamilySearch เพื่อให้แน่ใจว่าสิ่งนั้นจะไม่สูญหาย 
  • ใช้สื่อภาพเช่นรูปภาพหรือวีดิทัศน์เพื่อช่วยจุดประกายความทรงจําและนําการสนทนา พูดคุยเกี่ยวกับรูปภาพด้วยกัน หลีกเลี่ยงคําถามเช่น “คุณจําได้ไหมว่าบุคคลนี้เป็นใคร?” เพราะนั่นอาจทําให้คนที่คุณรักทุกข์ใจหรือสับสนได้หากพวกเขาจําไม่ได้ แต่ให้พูดถึงความทรงจําของคุณเองเกี่ยวกับเหตุการณ์ในภาพหรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสิ่งที่คุณเห็นในภาพ สื่อเสียง เช่นดนตรีจากวัยเยาว์ของคนที่คุณรัก อาจเป็นประโยชน์ในทํานองเดียวกัน  
  • รับรู้ว่าความทรงจําบางอย่างอาจไม่แม่นยำ ดังที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ การมีความทรงจำเท็จ—หรือที่เรียกกันทางการแพทย์ว่าการแต่งเติมความจำโดยไม่รู้ตัว—ถือเป็นอาการหนึ่งของโรคสมองเสื่อม หากคุณมีคําถามเรื่องความแม่นยำของความทรงจําของคนที่คุณรักเกี่ยวกับเหตุการณ์หนึ่ง ให้ลองหาแหล่งข้อมูลสํารองเพื่อเปรียบเทียบ

เก็บรักษาความทรงจําของคนที่คุณรักไว้บน FamilySearch.org

ขณะที่คุณรวบรวมความทรงจำของคนที่คุณรัก โปรดพิจารณาเก็บรักษาความทรงจำเหล่านั้นไว้ใน ความทรงจำ FamilySearch ด้วยบัญชี FamilySearch ฟรี การบันทึกและอัปโหลดความทรงจําในเวลานี้ไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ต่อคนที่คุณรัก ผู้ดูแล และครอบครัวในวิธีนับไม่ถ้วน แต่ยังจะบันทึกความทรงจําและมรดกของพวกเขาสําหรับคนรุ่นต่อๆ ไป

บทความที่เกี่ยวข้อง

โดย  Sally Odekirk
29 พฤษภาคม 2025
วันครบรอบเป็นช่วงเวลาที่ดีสําหรับคู่สามีภรรยาที่จะกลับมาสานสัมพันธ์กันอีกครั้ง วันครบรอบที่น่าจดจําที่สุดบางครั้งคือช่วงเวลาเงียบๆ ที่คุณสาม…
โดย  Abby Tanner
16 เมษายน 2025
วันเกิดเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ง่ายที่สุดในการจดจำ เป็นช่วงเวลาเพื่อเฉลิมฉลอง หวนรำลึก และเชื่อมโยง นี่ทําให้วันเกิดเป็นโอกาสที่ดียิ่งในการเริ่…


ที่ FamilySearch เราห่วงใยการเชื่อมท่านกับครอบครัว และเราให้ประสบการณ์การค้นพบที่สนุกและการบริการประวัติครอบครัวฟรี ทำไม? เพราะเราใส่ใจครอบครัวและเชื่อว่าการเชื่อมคนหลายรุ่นสามารถปรับปรุงชีวิตเราเวลานี้และตลอดไป เราเป็นองค์กรไม่หวังผลกำไรซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย เพื่อเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับความเชื่อของเรา คลิกที่นี่

Author Default Image
เกี่ยวกับผู้เขียน
Laurie Bradshaw